เรื่องที่ต้องจัดการเมื่อจะออกจากงานประจำ (ตอนที่ 3)

การจัดการประกันสังคม ตอนที่ 1

 

 
บทความก่อนหน้า: 

การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตอนที่1

การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตอนที่2



 

สำหรับคนที่กำลังจะลาออกจากงานประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนในการจัดการกับสวัสดิการเดิมของตน ซึ่งได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากอย่างที่เคยได้กล่าวไปแล้วในตอนที่แล้ว ในวันนี้มาดูต่อกันเลยในเรื่องของการจัดการประกันสังคมค่ะ

 

ประกันสังคมเป็นกองทุนภาคบังคับ ดังนั้นทันทีที่เราเข้าไปทำงานบริษัทเอกชน เราจะกลายเป็นสมาชิกกองทุน หรือเรียกว่าเป็นผู้ประกันตนในม.33 ของประกันสังคมทันที โดยมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้าไปในกองทุนทุกเดือน เดือนละ 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท

 

จ่ายไปแล้วได้อะไร …

 

เชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องของสวัสดิการด้านการรักษาตามสิทธิ์ประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงเรายังได้สิทธิ์ในด้านอื่น ๆ จากประกันสังคมอีก เช่น เงินช่วยเหลือกรณีคลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต และมีอีก 2 เรื่อง ที่หลายครั้งคนมักจะไม่ได้นึกถึง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพนักงานบริษัททุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังจะออกจากงานประจำ คือเรื่องของ 1.เงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน และ 2.เงินชราภาพ

 

  1. เงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน

ได้เมื่อไหร่ ?

  • เมื่อว่างงาน
  • โดยสมัครใจ (ลาออกจากงาน)
  • โดยการถูกเลิกจ้าง (ต้องเป็นการถูกเลิกจ้างในกรณีสุดวิสัยที่เกิดจากนายจ้าง เช่น กิจการประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องลดคนงาน เป็นต้น ส่วนคนที่ทำผิดกฎบริษัท หรือผิดกฎหมาย จนบริษัทต้องเชิญออกแบบนี้ไม่เข้าเงื่อนไข)
  • เมื่อมีการจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงานเข้าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ก่อนลาออก

** ต้องครบทั้ง 2 ข้อถึงได้เงินช่วยเหลือนะคะ **

 

ได้เงินเท่าไหร่ ?

  • ว่างงานโดยสมัครใจ ได้ 30% ของเงินเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ได้ 50% ของเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน

** เงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณ จะถูกจำกัดสูงสุดไว้ที่ 15,000 บาท ดังนั้นใครก็ตามที่เงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ก็จะได้เงิน 4,500 บาท/เดือนกรณีว่างงานโดยสมัครใจ และ 7,500 บาท/เดือน กรณีถูกเลิกจ้าง เท่านั้น ค่ะ **

ถามว่าเยอะไหม ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ไหน ๆ ก็ส่งเงินสมทบไปตั้งเยอะแล้ว อย่างน้อยเอาไว้ใช้เป็นค่าน้ำค่าไฟก็ยังดีค่ะ

 

ขั้นตอนการดำเนินการ ?

  1. ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ที่ “สำนักงานจัดหางานของรัฐ” โดยต้องไปขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยตอนขึ้นทะเบียนจะมีการให้ระบุบัญชีเงินฝากที่ใช้ในการรับเงินด้วย
  2. เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว ในแต่ละเดือนจะต้องมีการเข้าไปรายงานตนกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมโดยการกรอกแบบฟอร์ม เพื่ออัพเดทสถานะต่าง ๆ เช่น ตอนนี้ได้งานหรือยัง มีการหางานใหม่หรือไม่อย่างไร เป็นต้น ซึ่งหากเรายังไม่ได้เริ่มงานใหม่ เงินก็จะถูกโอนเข้าบัญชีตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นเองค่ะ

 

สำหรับตอนหน้ามาดูเงินช่วยเหลือกรณีชราภาพ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ อย่าลืมติดตามนะคะ

วิลินดา คำดี CFP®

Personal Financial Planner

Other articles