บริหารภาษีสำหรับธุรกิจครอบครัว

 

ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นการประกอบธุรกิจแบบกงสีหรือธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น บ้างก็ราบรื่นในการส่งต่อ บ้างก็จะเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวไม่ลงตัวบ้าง เกิดศึกชิงมรดกบ้าง จึงเป็นที่มาของการวางแผนก่อนที่จะทำธุรกิจครอบครัว เพื่อให้เกิดผลกำไรที่เติบโตและยั่งยืนต่อผู้ถือหุ้นและสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายและภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากภาษีเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งการจ่ายภาษีมาก ส่งผลให้มีผลตอบแทนที่จะไปสู่ผู้ถือหุ้นและสมาชิกในครอบครัวลดลง หรือกล่าวอักนัยหนึ่งว่า การวางแผนโครงสร้างธุรกิจครอบครัวและการบริหารภาษีให้เหมาะสม สามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้ ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจครอบครัว จึงควรพิจารณา 6 ข้อต่อไปนี้

 

  • รูปแบบการทำธุรกิจ

ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจครอบครัว ควรพิจารณาถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม เช่น จะประกอบในรูปของบุคคลธรรมดาหรือบริษัท และกรณีเป็นบริษัท ควรจะมีกี่บริษัท หรือควรมี holding company หรือไม่ โดยพิจารณาถึงต้นทุนภาษีโดยรวม เนื่องจากอัตราภาษี การหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน สำหรับบุคคลธรรมดาและบริษัท มีความแตกต่างกัน จึงควรเปรียบเทียบภาระภาษีแบบองค์รวม และในกรณีที่พิจารณาประมาณการรายได้ต่อปีว่าเกิน 1,800,000 บาท อาจพิจารณาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เริ่มประกอบการ

 

  • การระดมทุน

พิจารณาระหว่างสัดส่วนการใช้เงินทุนของเจ้าของเองกับการใช้เงินกู้ที่เหมาะสม ว่าควรเลือกใช้แบบใด เนื่องจากกรณีใช้เงินกู้จะมีค่าใช้จ่ายคือดอกเบี้ย ซึ่งสามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชีและภาษีได้ ขณะที่การใช้เงินทุนของเจ้าของเอง จะไม่มีค่าใช้จ่ายของดอกเบี้ย แต่ในปัจจุบันมีรูปแบบการระดมทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิตอล ให้นักลงทุน “ไอซีโอ” หรือ “Initial Coin Offering” อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบและภาระภาษีที่เกี่ยวข้องสำหรับการระดมทุนรูปแบบใหม่นี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางหน่วยงานราชการ

 

  • ทรัพย์สินที่ใช้ประกอบการ

 เช่น พิจารณาว่าจะซื้อหรือเช่าที่ดิน อาคาร และเครื่องจักร หรือ กรณีที่ดินที่ใช้ในการประกอบการถือครองในรูปบุคคล อาจพิจารณาว่า จะโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทหรือไม่ การประกอบธุรกิจจำเป็นต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ หรือ มีกฎหมายอื่นๆ อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ กรณีซื้อแฟรนไชส์ จะต้องคำนึงอะไรบ้าง เป็นต้น

 

  • การจ่ายค่าตอบแทนและผลประโยชน์ให้กรรมการ และสมาชิกในครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นรูปของเงินเดือน โบนัส เงินปันผล หรือสวัสดิการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพต่างๆ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม และภาระภาษีโดยรวมต่ำที่สุด

 

  • ภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบการ

ควรพิจารณาถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร เป็นต้น เพื่อให้มีการปฏิบัติการทางภาษีที่ถูกต้อง โดยไม่ก่อให้เกิดภาระภาษีรวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในภายหลัง

 

  • ภาษีการส่งต่อให้ทายาท

แน่นอนว่าการทำธุรกิจกงสีหรือธุรกิจครอบครัวจะต้องมีการส่งต่อให้ทายาท จึงต้องพิจารณาถึงภาษีมรดก ภาษีการให้ ความจำเป็นในการจัดตั้งทรัสต์ เป็นต้น

 

ดังนั้น การประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัวก็ตาม นอกจากจะพิจารณาถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ การเติบโต ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังควรพิจารณาถึงการจัดการโครงสร้างธุรกิจและการบริหารภาษีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีแบบแผนที่ดี มีค่าใช้จ่ายภาษีที่เหมาะสม ส่งผลให้มูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อไป และหากเป็นธุรกิจครอบครัวก็จะช่วยลดปัญหาการส่งต่อให้ทายาทลงไปได้

รัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย CFP®

Personal Financial Planner

Other articles