การเงินกับสุขภาพ

 

หลายๆ ครั้ง เราจะได้ยินผู้คนพูดถึงการตรวจเช็ค “สุขภาพทางการเงิน” เพื่อประเมินว่าสุขภาพทางการเงินของเรานั้นแข็งแรงหรืออ่อนแอ ต้องเยียวยาแก้ไขหรือไม่อย่างไร คล้ายๆ กับการที่เราต้องตรวจเช็ค “สุขภาพร่างกาย” เป็นประจำทุกปี ถ้าพบว่ามีการเจ็บป่วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ จะได้รีบรักษา ถ้ายังไม่เจ็บป่วย ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ควรหาทางป้องกัน หลายๆ คนอาจจะเริ่มสงสัยว่าตกลงคำว่า “สุขภาพ (ร่างกาย)” กับ “การเงิน” จริงๆ แล้วมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ หรือเป็นเพียงการหยิบยกคำมาใช้เพื่อให้เข้าใจการวางแผนการเงินส่วนบุคคลได้ง่ายขึ้น เราลองมาพิจารณากัน

 

โดยทั่วไปแล้ว เวลาเรานึกถึงการวางแผนการเงิน กรอบความคิดที่มักเกิดขึ้นจะเป็นดังภาพด้านล่าง คือ เราจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการบริหารรายรับรายจ่าย การจัดการหนี้สิน และที่เน้นย้ำกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการลงทุนให้งอกเงยผ่านการจัด Portfolio ของสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Financial Capital เช่น เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือ Real Capital เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ควบคู่ไปกับความพยายามที่จะปกป้องทรัพย์สินที่หามาได้และการทำประกันภัย เผื่อโชคร้ายต้องสูญเสียทรัพย์สินเดิมไปจะได้มีเงินชดเชยไปซื้อทรัพย์สินใหม่มาทดแทน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้

 

 

ถ้าเราตีกรอบความคิดไว้แบบนี้ จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่เราจะรู้สึกว่า “สุขภาพ (ร่างกาย)” กับ “การเงิน” เป็นเรื่องที่ไม่สัมพันธ์กันเท่าไหร่ และมักจะลงท้ายด้วยการละเลยสุขภาพเพื่อพิชิตเป้าหมายทางการเงิน หากแต่ว่าในทางการเงินถ้าพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน สินทรัพย์ที่เรามีมิได้มีเพียง Financial Capital และ Real Capital เท่านั้น แต่เรายังมี Human Capital หรือทรัพยากรบุคคลซึ่งก็คือตัวเรานั่นเองเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมากที่สุดแต่มักถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่ในชีวิตของคนส่วนใหญ่ Human Capital มักเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่มาของ Financial Capital และ Real Capital อีกด้วย ยิ่งถ้าเราเพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน Human Capital นี้ต้องถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดใน Portfolio ของเราทีเดียว

 

Human Capital มักถูกมองข้ามไม่ได้นับว่าเป็นสินทรัพย์และถูกละเลยไม่ดูแล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Human Capital นั้นซื้อขายไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะซื้อขายไม่ได้ Human Capital นี้ก็มีมูลค่า และในทางทฤษฎีเราสามารถตีมูลค่า Human Capital ได้ ทางหนึ่งที่เราจะสามารถเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์นี้ได้ก็โดยการพัฒนาศักยภาพของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอคือ Human Capital มักมีมูลค่าลดลงตามกาลเวลาอันเนื่องมาจากสังขารและความเสื่อม ซึ่งเราไม่สามารถฝืนธรรมชาติเรื่องนี้ แต่เรายังโชคดีที่มีวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เราสามารถชะลอความเสื่อมได้ การลดค่าของ Human Capital นี้จะยิ่งเร่งเร็วขึ้นเป็นทวีคูณถ้าเราเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร ลองนึกถึงวันที่เราไม่สบายด้วยโรคเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นหวัด ไอ หรือท้องเสีย อ่อนแรง เพียงแค่โรคเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ของเราลดลง แล้วถ้าเราเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอันเกิดจากความเสื่อมทั้งหลาย (กลุ่มโรค NCDs) เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด อัลไซเมอร์ ฯลฯ มูลค่าของสินทรัพย์นี้อาจจะลดลงเร็วและแรงถึงระดับด้อยค่าได้เลย

 

เมื่อตัวเราแท้จริงแล้วเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมากที่สุดที่เราครอบครองอยู่ เราก็ควรที่จะหวงแหนและดูแลสุขภาพร่างกายให้สมกับมูลค่าของสินทรัพย์นี้ เราพึงตระหนักเสมอว่า

 

  • การใช้ร่างกายอย่างหนักเพื่อเพิ่มมูลค่าของ Financial Capital และ Real Capital ไม่ได้ทำให้ความมั่งคั่งโดยรวมเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะเราเอา Human Capital ไปแลก ซึ่งมูลค่า Human Capital ที่ลดลงอาจมากกว่า Financial Capital และ Real Capital ที่เพิ่มขึ้นก็ได้ ดังนั้นเราควรดำเนินชีวิตอย่างมีสมดุล

  • ร่างกายเราต้องการการดูแลเฉกเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ เมื่อเรามีสินทรัพย์ที่เสื่อมสภาพได้ เช่น บ้าน เรามักจะรับเงื่อนไขในการดูแลและลงมือปกป้องบำรุงรักษาสินทรัพย์เหล่านั้นเพื่อไม่ให้ชำรุดเสียหายและคงสภาพให้นานที่สุด นึกถึงช่วงฤดูฝน แทบทุกบ้านจะเตรียมปั๊มดูดน้ำ กระสอบทราย ไว้พร้อมเพื่อป้องกันน้ำท่วม สุขภาพร่างกายก็เช่นเดียวกัน ถูกโจมตีจากอนุมูลอิสระอันก่อให้เกิดความเสื่อมตลอดเวลา เราก็ควรใส่ใจวิถีชีวิต ดูแลคุณภาพของอาหาร น้ำ อากาศที่เข้าสู่ร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และจัดการกับความเครียด เพื่อต่อสู้กับอนุมูลอิสระเหล่านั้น ป้องกันการด้อยค่าของ Human Capital ก่อนเวลาอันควร

  • เมื่อเราใช้ Human Capital เพื่อแลก Financial Capital และ Real Capital ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็จะต้องใช้ Financial Capital และ Real Capital เพื่อแลก Human Capital กลับคืนมา ถ้าคำนึงกันถึงแค่มูลค่าอย่างเดียว การแลกคืนนี้ในหลายๆ ครั้งต้องถือว่าไม่คุ้มค่า แต่เราคือมนุษย์ มิติของชีวิตมนุษย์ลึกซึ้งกว่าคำว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ท้ายที่สุดแล้วในนาทีแห่งความเป็นความตาย เราและคนที่รักเราจะยินดีแลก Financial Capital และ Real Capital มากมายเพื่อยื้อลมหายใจไว้ให้นานที่สุด ประกันสุขภาพมีส่วนสำคัญที่จะช่วยบรรเทาการสูญเสีย Financial Capital และ Real Capital ตรงนี้ได้

  • หลายๆ คนเริ่มมองเห็นความสำคัญและต้องการมีประกันสุขภาพไว้ แต่ใช่ว่าใครก็สามารถทำประกันสุขภาพได้ ถ้าสุขภาพไม่ดี อาจส่งผลให้ไม่สามารถทำประกันได้ พูดง่ายๆ ว่าหมดสิทธิที่จะมีความคุ้มครอง หรือถ้าทำได้ ก็ได้ความคุ้มครองไม่ครบถ้วน หรือมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่า Financial Capital และ Real Capital ที่พยายามสะสมมามีความเสี่ยงที่จะลดลงเร็วและแรงเพื่อไปแลก Human Capital นั่นเอง

 

นอกจากนี้ เมื่อเราถือว่า Human Capital เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่อยู่ใน Portfolio รวมของเรา ก็จะส่งผลต่อการจัด Portfolio ของสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย นอกเหนือไปจากการต้องดูแลสุขภาพตามที่กล่าวไปข้างต้น

สุขภาพร่างกายมิได้มีความสำคัญแค่ด้านมูลค่า แต่มันหมายความถึงคุณภาพชีวิต การดูแลสุขภาพให้ดีจึงไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องเป้าหมายทางการเงินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเป้าหมายชีวิต มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราสะสมความมั่งคั่งทางการเงินได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่เราได้แค่นอนนิ่งๆ ภาคภูมิใจกับตัวเลขในบัญชี ยังไม่สายที่เราจะหันมาดูแลสุขภาพกันตั้งแต่วันนี้

ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์ CPA, CFA, CFP®

บทความอื่นๆ