เตรียมตัวก่อนที่ไวรัสจะมารอบสอง

หลังจากที่เราได้ผ่านช่วงเวลาของการอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 แล้ว ตอนนี้ทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลายกลับสู่ปกติ เป็น New Normal ให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ช่วงเวลาที่ได้ผ่านไปนั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติสำหรับใครบางคน โดยบางคนอาจจะประสบกับปัญหาการถูกลดเงินเดือนแล้วทำให้มีเงินไม่พอใช้ในครอบครัว หรือ บางคนอาจจะเจอกับปัญหามีหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะไม่สามารถค้าขายได้ ปัญหาหลายๆ อย่างนี้ ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเราเองในวันที่ทุกอย่างเริ่มเป็นปกติว่าเรามีการเตรียมตัวเอาไว้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไวรัสเกิดการระบาดรอบสอง เราจะกลับไปเจอปัญหาอย่างเดิมหรือเปล่า ดังนั้นเราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่ไวรัสรอบสองจะมาตามนี้  

  1. เตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอ หากในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าสภาพคล่องหรือเงินสดของเรายังมีไม่พอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น เราก็ควรกันสภาพคล่องให้มากกว่าเดิม ถ้าเดิมกันสภาพคล่องไว้อยู่แล้วที่ 3 ถึง 6 เท่าของรายจ่ายประจำแล้วยังไม่พอ ก็อาจจะต้องขยับเพิ่มเป็น 9 เท่า หรือ 12 เท่าของรายจ่ายประจำ หรือ ถ้าเรามีอาชีพที่เสี่ยงสูงต่อการเลิกจ้างหรือทำงานแบบอิสระเป็นฟรีแลนซ์ ก็ควรกันสภาพคล่องไว้ให้เพิ่มมากกว่าเดิม

  2. ทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาทำให้คนตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงว่าถ้าเราหรือคนในครอบครัวเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา เราจะหาค่ารักษามาจากไหน เราจึงควรทำประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงเอาไว้ก่อนที่จะเจ็บป่วย หรือ มีประวัติการรักษา ถ้าเรามีประวัติการรักษาแล้วไปทำประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรง บริษัทประกันสามารถปฏิเสธความคุ้มครองในส่วนที่เราเป็นโรคมาก่อนได้ จะทำให้เราไม่สามารถมีประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงที่คุ้มครองทุกโรคได้

  3. เพิ่มรายได้ให้มาจากหลายทาง หลายๆ อาชีพที่คิดว่ามั่นคง เช่น ทันตแพทย์ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมากลับกลายเป็นไม่มั่นคง ดังนั้นเราควรหารายได้ทางที่สองหรือรายได้ทางที่สามเผื่อเอาไว้เป็นรายได้เสริมของเรา รายได้เสริมนี้อาจจะมาจากความชอบ หรือ ความถนัดส่วนตัว เช่น ทำอาหารขาย ทำขนมขาย เย็บปักถักร้อย เพื่อเราจะได้มีรายได้เข้ามาหลายทาง

  4. ปลูกพืชผักสวนครัว ลดรายจ่ายค่ากับข้าว หากเกิดวิกฤติรอบสองขึ้นมา เราอาจจะต้องอยู่แต่ภายในบ้านแบบเดิมไม่สามารถออกไปไหนได้สะดวก การจะสั่งอาหารมากินบ่อยๆ ก็จะเป็นการเพิ่มรายจ่ายของเรามากขึ้น เราสามารถลดรายจ่ายในส่วนนี้โดยการปลูกพืชผักสวนครัวหรือผลไม้เอาไว้กินเอง เพื่อประหยัดรายจ่ายและยังเป็นทางรอดของการดำรงชีวิตอีกด้วย

  5. ทบทวนแผนการเงินที่ทำมา การทบทวนแผนการเงินจะทำให้เราทราบว่า เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาแล้วแผนการเงินของเรายังสามารถไปถึงตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้หรือเปล่า แผนในระยะยาวเช่น แผนการเกษียณยังคงเหมือนเดิมหรือเปล่า เราอาจจะต้องเกษียณช้าลงหรือเก็บเงินเพิ่มขึ้น แผนการศึกษาของลูกจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเปล่า ลูกอาจจะเลือกเรียนต่อในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสน้อยแทนหรือเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศแทน

เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะรับมือกับวิกฤติได้ อยู่ที่การตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และวางแผนให้ครอบคลุม เท่านี้เราก็จะผ่านวิกฤติทุกช่วงเวลาไปได้

วิรุฬห์ ไพศาขมาศ

นักวางแผนการเงิน

บทความอื่นๆ