อย่าพลาด! ค่าลดหย่อนขบวนสุดท้าย ท่องเที่ยว และ ซื้อสินค้าและบริการ

 

มาตรการสุดท้ายประจำปี 2559 ที่รัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านทางค่าลดหย่อนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสองมาตรการดังนี้

 

  1. ค่าลดหย่อน ท่องเที่ยว ในช่วงวันที่ 1 ธ.ค. ถึง 31 ธ.ค.
  2. ค่าลดหย่อน ซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงวันที่ 14 ธ.ค. ถึง 31 ธ.ค.

 

ค่าลดหย่อนทั้งสองมาตรการนี้ มีลักษณะเหมือนกับที่เคยออกมาในปีนี้และในปีที่แล้ว แต่บางคนอาจจะลืมไปแล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราจะมาทบทวนค่าลดหย่อนทั้งสองมาตรการกัน

 

ค่าลดหย่อน ท่องเที่ยว

 

ค่าลดหย่อน ท่องเที่ยวที่ออกมาใหม่นี้ เป็นค่าลดหย่อนท่องเที่ยวช่วงที่ 3 ของปี 2559 โดย

 

  • ค่าลดหย่อนท่องเที่ยวช่วงที่ 1 เป็นช่วง วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2559 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนท่องเที่ยวและทานข้าวนอกบ้านช่วงที่ 2 วันที่ 9 เม.ย. ถึง 17 เม.ย. 2559 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนท่องเที่ยวช่วงที่ 3 วันที่ 1 ธ.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2559 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

 

ซึ่งเงื่อนไขของค่าลดหย่อนท่องเที่ยวในช่วงที่ 3 นี้ก็จะเหมือนกับในช่วงที่ 1 เลย แตกต่างกันที่ช่วงเวลาเท่านั้น ดังนั้นเรามาทบทวนค่าลดหย่อนท่องเที่ยวช่วงที่ 1 กับ ช่วงที่ 3 กันอีกทีนะครับ

 

  • ต้องเป็นค่ามัคคุเทศก์นำเที่ยว ที่มีรายชื่อในผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว
  • ต้องเป็นค่าที่พักโรงแรมที่มีรายชื่อในผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูป และใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน และ วันเดือน ปี ที่จ่ายเงิน

 

ดังนั้น หากใครที่ยังไม่เคยมีค่าลดหย่อนท่องเที่ยวในปีนี้เลย ก็จะสามารถมีค่าลดหย่อนท่องเที่ยวตลอดเดือน ธ.ค. นี้ได้สูงสุดถึง 30,000 บาท

 

ค่าลดหย่อน ซื้อสินค้าและบริการ

 

ค่าลดหย่อน ซื้อสินค้าและบริการปี 2559 เป็นค่าลดหย่อนออกมาเหมือนกับค่าลดหย่อน ซื้อสินค้าและบริการในปี 2558 เลย แต่ของปี 2559 นี้ขยายช่วงเวลาให้นานกว่าปีที่แล้ว เรามาทบทวนค่าลดหย่อนซื้อสินค้าและบริการกันอีกทีนะครับ

 

  • ต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น และซื้อระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2559 เท่านั้น
  • มีหลักฐานการซื้อเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปเท่านั้น บิลเงินสด ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ และ ใบกำกับภาษีต้องลงวันที่ในช่วง 14 ธ.ค. ถึง 31 ธ.ค. เท่านั้น
  • นำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง (ตามที่จ่ายจริงคือ ราคาสินค้าบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม) สามารถรวมหลายๆ ใบได้ แต่รวมทั้งหมดแล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
  • สินค้าและบริการที่เป็น น้ำมัน แก๊ส ไวน์ เบียร์ สุรา บุหรี่ เนื้อสัตว์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัทพ์ ค่ารักษาพยาบาล หนังสือ นิตยสาร ตั๋วเครื่องบินนอกประเทศ ค่าทัวร์ ที่พักโรงแรม ค่าประกันชีวิต ประกันรถยนต์ บัตรของขวัญต่างๆ จะนำมาลดหย่อนไม่ได้
  • สินค้าและบริการที่เป็น ตั๋วเครื่องบินในประเทศที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าซ่อมรถ อะไหล่รถยนต์ ค่าเช็คตรวจสภาพรถ ค่าซื้อของในเวบไซต์ในประเทศที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าซื้อของใน Duty Free ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่า Commission ที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะนำมาลดหย่อนได้

 

ดังนั้น เมื่อได้ซื้อสินค้าหรือบริการแล้ว ก็อย่าลืมขอใบกำกับภาษี หากร้านค้าใดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่ออกใบกำกับภาษีให้เรา ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ใบกำกับภาษีเป็นสิทธิของเราที่จะเรียกขอ เราต้องรักษาสิทธิของเรานะครับ

 

ทางรัฐหวังว่ามาตรการค่าลดหย่อน ท่องเที่ยว และ ซื้อสินค้าและบริการนี้ จะช่วยให้มีการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ใครที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว หรือ ต้องซื้อของและใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการได้ลดหย่อนภาษี โดยค่าลดหย่อนนี้ก็จะเอาไปคำนวณภาษี ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานภาษีของแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนนั้นมีฐานภาษีที่ไม่เท่ากัน ก็จะประหยัดภาษีต่างกันไป หากใครที่สงสัยเกี่ยวกับค่าลดหย่อนไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยว ซื้อสินค้าและบริการ หรือ ค่าลดหย่อนตัวอื่นก็สอบถามมาได้นะครับ ขอให้โชคดีกับการท่องเที่ยวและช็อปปิ้งนะครับ

วิรุฬห์ ไพศาขมาศ

นักวางแผนการเงิน

Other articles