เครดิตภาษีเงินปันผล


ปัจจุบัน “หุ้น” เป็นสินค้าการเงินตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อในระยะยาว ดังนั้น ผู้ที่มีเงินออมจากรายได้ประจำกลุ่มหนึ่ง จึงเลือกแบ่งเงินออมมาลงทุนในหุ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับเงินออม

ผลตอบแทนจากหุ้นประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนต่างของราคาและเงินปันผล โดยรายได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นจะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในส่วนของเงินปันผล ผู้ลงทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายถือเป็น final tax คือไม่จำเป็นต้องคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มากกว่าฐานภาษีปกติของผู้ลงทุน ก็สามารถนำมายื่นภาษีเพื่อขอคืนส่วนต่างได้ เรียกว่า เครดิตภาษี

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเงินปันผลที่ได้รับนั้นถูกหัก ณ ที่จ่ายแค่ 10%  (ซึ่งเอกสารได้ระบุตามนั้น) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนในหุ้นนั้น ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นหุ้นส่วนกับกิจการนั้น ๆ ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีนิติบุคคลด้วย แต่เรามองไม่เห็น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าเราลงทุนในหุ้นบริษัท ก. บริษัทมีกำไร 100 บาท ต้องเสียภาษีนิติบุคคล (สมมุติ 20%) 20 บาท เหลือกำไรหลังหักภาษี 80 บาท จากนั้นนำกำไรมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น 80 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% คือ 8 บาท เท่ากับว่าเราต้องเสียภาษี 20+8=28 บาท เทียบกับกำไรเริ่มต้น 100 บาท เท่ากับต้องเสียภาษี 28% (ไม่ใช่ 10% อย่างที่คิด) ดังนั้น หากเรามีรายได้อื่น ๆ ที่ฐานภาษี 25% หรือต่ำกว่า เราก็สามารถนำมาเครดิตภาษีคืนได้

ถ้าเราลงทุนในหุ้นหลายตัวแล้วต้องการนำมารวมคำนวณภาษีเพื่อขอเครดิตภาษีคืน ก็ต้องนำทุกตัวมาคำนวณ ห้ามเลือกเฉพาะตัวที่เราได้ประโยชน์เท่านั้น เพราะกิจการที่จ่ายเงินปันผลมีหลายประเภท บางกิจการเสียภาษี (15% - 30% แล้วแต่กิจการ) บางกิจการได้รับยกเว้นภาษี บางกิจการไม่ได้เครดิตภาษี (ซึ่งจะระบุรายละเอียดในเอกสารการจ่ายปันผล) โดยหากเลือกรวมคำนวณทุกตัวแล้วเราได้คืนภาษีมากขึ้นก็นำมาคำนวณเป็นรายได้ในหมวด 40(4)  แต่หากรวมคำนวณทุกตัวแล้วทำให้เสียภาษีมากกว่าเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเอาเงินปันผลมารวมคำนวณก็ได้ เพราะถือเป็น final tax เรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของกองทุน เงินปันผลจากกองทุนรวมจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่เนื่องจากกองทุนรวมไม่ได้เสียภาษีอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า เราถูกหัก ณ ที่จ่ายเพียงแค่ครั้งเดียว คือ 10%  และอีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ห้ามลืมเลยก็คือ หากเรามีฐานภาษีสูงกว่า 10% อย่าลืมระบุตอนซื้อกองทุนรวมว่า ขอหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย ถ้าไม่ได้หักไว้ก็ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีรายได้ ซึ่งหากเรามีฐานภาษีอยู่ที่ 30% กลายเป็นว่าเราต้องเสียภาษีปันผลจากกองทุนรวม 30% เช่นกัน ซึ่งจะน่าเสียดายมากทีเดียว

ศุภกัญญา บุญสิงห์ FChFP

Personal Financial Planner

Other articles