8 เทคนิคที่ไม่เคยมีใครบอก ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2558

 

ตามปกติแล้วการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะไม่ค่อยมีใครมาบอกเทคนิคกัน เพราะเชื่อกันว่ามันง่ายและสมควรทำได้ด้วยตนเอง แต่พอเอาเข้าจริงกลับพบว่าที่ว่าง่ายนั้น บางครั้งเราก็สงสัย ทำไปด้วยความไม่เข้าใจ หรือทำไปแบบมั่วๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ดังนั้นผมจึงสรุปเทคนิค 8 ข้อที่ไม่เคยมีใครบอก ในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2558 มาให้นะครับ 

 

  1. หากนำบุตรมาลดหย่อน ต้องเตรียมเลขที่บัตรประชาชนของบุตรให้พร้อม หากกรณีที่พ่อเอาบุตรมาลดหย่อน พ่อต้องมีการจดทะเบียนสมรส มีการจดรับรองบุตรก่อน หรือศาลพิพากษาให้เป็นบุตร มิฉะนั้นแล้วพ่อจะไม่สามารถนำบุตรมาลดหย่อนได้ ส่วนแม่สามารถนำบุตรมาลดหย่อนได้ทันที แม้ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม
  2. หากต้องนำเงินปันผลจากหุ้นมาเครดิตภาษี เราสามารถเรียกดูข้อมูลเงินปันผลและข้อมูลเครดิตเงินปันผลได้จากเวบ www.set.or.th และสามารถทำเป็นไฟล์แนบยื่นไปกับภงด. 90 ได้ทันที โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ ทางเวบจะคำนวณทุกอย่างไว้เรียบร้อยพร้อมเรียกใช้ได้ทันที และที่สำคัญที่สุดคือได้ข้อมูลเงินปันผลหุ้นครบทุกตัวด้วย จะไม่มีตกหล่นหรือเอาเงินปันผลหุ้นมาคำนวณไม่ครบอีกต่อไป 
  3. ทดสอบการยื่นภาษีที่ทำให้ประหยัดการเสียภาษีน้อยที่สุด เช่น การแยกยื่นหรือยื่นร่วมของสามีและภรรยา การนำดอกเบี้ยและเงินปันผลมารวมคิดหรือไม่ การนำเครดิตเงินปันผลมารวมคิดหรือไม่ เป็นต้น หากวิธีไหนคุ้มค่าประหยัดภาษีมากที่สุดก็ควรเลือกวิธีนั้น ดังนั้นหากเรามีการคำนวณภาษีหรือวางแผนภาษีมาแล้วก็จะทำให้ประหยัดเวลาและภาษีมากขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกในตอนยื่นภาษี เราก็จะยื่นภาษีได้อย่างสบายใจ
  4. หากรู้ว่ามีการยื่นภาษีแล้วใส่ตัวเลขผิด ใส่ข้อมูลตกหล่น ไม่ครบ ให้ทำการยื่นเพิ่มเติมได้ทันที โดยหักลบกับยอดที่ยื่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ต้องทำให้ทันภายในวันสุดท้ายของการยื่นภาษี หากทำเกินวันสุดท้ายของการยื่น ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระก็จะต้องเสียเงินเพิ่ม
  5. หากมีการขอคืนภาษี ก็ควรเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่น เพราะทางสรรพากรจะเรียกขอ หรือเราสามารถส่งเอกสารตามไปหลังจากการยื่น เพื่อความรวดเร็วในการขอคืนภาษี ทั้งนี้หากต้องการที่จะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็วสามารถเลือกให้สรรพากรส่งเช็คเป็นจดหมาย EMS ได้ โดยค่าจดหมาย EMS จะถูกหักไปกับเงินที่ได้คืน
  6. หากยื่นภาษีเงินได้แบบกระดาษ นั้นหมายความว่าเราได้คำนวณภาษีได้อย่างถูกต้องเองแล้ว หากมีข้อผิดพลาด เช่น คิดเลขผิด ใส่ตัวเลขไม่ถูกต้องตามช่องที่กำหนด แม้ว่าเราจะให้เจ้าหน้าที่เป็นคนกรอก หรือ ให้เจ้าหน้าที่เป็นคนเขียน หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาระภาษีที่เกิดขึ้น ไม่สามารถโยนความผิดไปให้ใครได้เพราะสรรพากรถือว่า เจ้าหน้าที่แค่ช่วยอำนวยความสะดวกเท่านั้น ความรับผิดชอบก็ยังตกอยู่ที่เจ้าของเงินได้ตลอดเวลา
  7. การยื่นภาษีเงินได้แบบกระดาษ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้เท่านั้น ส่วนการยื่นภาษีเงินได้แบบออนไลน์ผ่านเวบไซต์กรมสรรพากร สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน หากยื่นแบบกระดาษไม่ทันวันที่ 31 มีนาคม ก็ต้องยื่นแบบออนไลน์เท่านั้น หากมียอดภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระภายในวันสุดท้าย มิฉะนั้นสรรพากร จะถือว่าไม่ได้ยื่นเสียภาษี
  8. หากมีภาษีที่ต้องชำระเกิน 3,000 บาทขึ้นไป สามารถเลือกผ่อนชำระภาษีได้ การผ่อนจะไม่มีดอกเบี้ย และสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือ จ่ายเป็นเช็คก็ได้ แต่ต้องจ่ายให้ทันในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ได้ชำระภายในเวลาที่กำหนดจะหมดสิทธิชำระแบบผ่อนและต้องเสียเงินเพิ่ม

 

หากมีการติดขัดหรือมีปัญหาไม่ว่าจะเกิดในขั้นตอนใดในการเสียภาษี หลายๆ คนอาจจะเบื่อหน่ายแล้วปล่อยให้มันผ่านไปแบบง่ายๆ ด้วยเหตุที่ว่าไม่อยากเสียเวลาและไม่อยากคุยกับสรรพากร แต่บางทีการที่เราปล่อยมันผ่านไปนี้ มันอาจจะกลับมาสร้างปัญหาให้กับเราในปีต่อๆ ไปก็เป็นไปได้ ดังนั้นเราควรที่จะวางแผนภาษีเสียแต่เนิ่นๆ  ทำความเข้าใจกับแผนภาษีก่อน หรือ หากมีคำถามหรือข้อข้องใจเกี่ยวกับภาษีก็สามารถอีเมล์มาหาผมได้ที่ viroon.p@wealthsolution.co.th เท่านี้เรื่องภาษีก็จะกลายเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับท่านอีกต่อไป ขอให้ทุกท่านโชคดีในการยื่นภาษีนะครับ

วิรุฬห์ ไพศาขมาศ

นักวางแผนการเงิน

Other articles